เหล่าอาจารย์จาก MIT ได้นำเสนอบทความเชิงวิเคราะห์ ในนโยบายที่ชื่อ Can We Have Pro-Worker AI? Choosing a path of machines in service of minds โดยมีการกล่าวไว้ในงาน MIT Shaping the Future of Work Initiative

แอดมินจึงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะ AI เป็นเรื่องสำคัญระดับความท้าทายของมนุษย์ สรุปดั้งนี้

ในระยะเวลา 40ปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายเทคโนโลยีดิจิทัล (diffusion of digital technologies)ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ  ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) จะมีผลกระทบต่อความไม่เสมอภาคของสังคมอย่างแน่นอน แต่ลักษณะของผลกระทบนั้น จะขึ้นอยู่กับวิธีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีนี้

ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังอยู่บนเส้นทางสำหรับปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ที่มุ่งเน้นการทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ และการแทนที่แรงงานโดยปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับมีการสอดแนมในสถานที่ทำงาน

แต่ในทางตรงกันข้าม คือ ทำให้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) สามารถร่วมมือกับมนุษย์ส่วนมากในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพทางทักษะที่จำเป็น โดนจะต้องครอบคลุมรวมถึงคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกเส้นทางที่สามารถร่วมมือกันทำงานระหว่างปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) และมนุษย์ส่วนมาก จะต้องมีการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในแนวทางปฏิบัติและพฤติกรรมองค์กรของบริษัทเอกชน

โดยศาสตราจารย์ Daron Acemoglu, David Autor, และ Simon Johnson ที่ MIT ได้เสนอแนะนโยบายสำหรับรัฐบาลกลาง กล่าวโดยสรุปดั้งนี้

  • ทำให้อัตราภาษีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ระหว่างแรงงาน และ ผู้ครอบครองปัญญาประดิษฐ์ เพื่อควบคุมระดับการแข่งขันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
  • ปรับปรุงกฎเกณฑ์ความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อคุ้มครองหรือจำกัดการสอดแนมพนักงาน ตลอดจนรับฟังเสียงของแรงงาน
  • เพิ่มทุนวิจัยด้านการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
  • สร้างศูนย์วิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล เพื่อช่วยแบ่งปันความรู้สำหรับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลและหน่วยงานรัฐต่างๆ

อีกหนึ่งบทความ Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand พบว่า แรงงานอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ จะสามารถสร้างรายได้มากกว่า กล่าวคือ ทั้ง GDP เฉลี่ยต่อหัวของจังหวัด และ รายได้ต่อชั่วโมงของแรงงานมีมูลค่าสูงกว่า ในทางกลับกัน อาชีพที่ไม่ค่อยต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์และทักษะการสื่อสาร จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้มีความตื่นตัวที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบ inclusive growth อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) มีแนวโน้มจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถแข่งขันได้หรือจะอยู่รอดอย่างยากลำบากในโลกอนาคต อันจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศทางเศรษฐกิจสังคม

 สรุปโดย  ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น