รูหนอน (wormhole) ยังคงเป็นความฝันที่บรรดานักฟิสิกส์ต้องการจะทำให้เป็นจริงขึ้นมาให้จงได้ แม้ปัจจุบันจะยังคงค้นหาช่องทางดังกล่าว ซึ่งเกิดจากการบิดเบี้ยวพับตัวของปริภูมิ-เวลาในทางทฤษฎีไม่พบก็ตาม

ยังมีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อใช้มองหารูหนอนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติให้ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย โดยทีมนักฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาจาก University at Buffalo (UB)ของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดในการค้นหารูหนอนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ลงในวารสาร Physical Review ไว้ดังนี้

ทีมผู้วิจัยระบุว่า เมื่อการพับตัวของปริภูมิ-เวลา (space-time) ได้ทำให้เกิดรูหนอนย่นระยะทางเชื่อมต่อสถานที่สองแห่งในจักรวาลนั้น แรงโน้มถ่วงมหาศาลจากวัตถุที่มีมวลมาก เช่นจากดาวฤกษ์ที่ปลายทางอีกด้านหนึ่งของรูหนอน ย่อมสามารถจะส่งผ่านมาถึงยังปลายทางด้านตรงข้ามที่เราเป็นผู้สังเกตอยู่ได้ โดยแรงโน้มถ่วงมหาศาลนี้จะทำให้การเคลื่อนที่ของวัตถุอวกาศในฝั่งของเรากวัดแกว่งเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า เหตุการณ์ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีอยู่ของรูหนอนดังกล่าว มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้สูงในสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงแบบสุดขั้ว เช่นในห้วงอวกาศโดยรอบหลุมดำมวลยิ่งยวด หรือแม้แต่ในบริเวณขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) ของหลุมดำเอง

ดร. สตอยโควิชกล่าวย้ำด้วยว่า “การกวัดแกว่งออกจากวงโคจรปกติของดาวฤกษ์เพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานชี้ถึงการมีอยู่ของรูหนอนได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการตรวจสอบและศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” “แม้เราจะพบรูหนอนในธรรมชาติเข้าจริง ๆ ก็ใช่ว่าจะใช้มันเดินทางไปกลับข้ามจักรวาลได้ทันที เพราะรูหนอนจะไม่เสถียรและพังทลายลงอย่างรวดเร็ว หากเราไม่มีแหล่งกำเนิด “พลังงานลบ” เข้าช่วยพยุงให้โครงสร้างของรูหนอนเปิดอยู่นานพอ” ดร. สตอยโควิชกล่าวทิ้งทาย

Cr: BBCThai , Newsweek , NBC News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น