ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้มีปัญหาทางการพูดสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้ขั้วไฟฟ้าฝังไว้ที่ผิวของสมองบางส่วน เพื่อตรวจจับและอ่านสัญญาณซึ่งจะบ่งบอกถึงลักษณะของเสียงที่ผู้พูดต้องการเปล่งออกมา

ทีมผู้วิจัยเผยแพร่รายงานดังกล่าวในวารสาร Nature โดยระบุว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนเสียหาย รวมทั้งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, โรคพาร์กินสัน, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, โรคประสาทสั่งการเสื่อม, โรคมะเร็งลำคอและกล่องเสียง ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการพูด

อุปกรณ์ดังกล่าวทำงานโดยถอดรหัสสัญญาณไฟฟ้าในสมองถึง 2 ขั้นตอน โดยเริ่มจากขั้วไฟฟ้าที่ฝังไว้ตรวจจับสัญญาณที่บ่งบอกถึงลักษณะความเคลื่อนไหวของริมฝีปาก ลิ้น กราม และกล่องเสียง ที่ผู้พูดคิดต้องการจะให้เกิดขึ้นเสียก่อน

จากนั้นอุปกรณ์จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม AI เพื่อให้ทราบว่าเสียงแต่ละพยางค์ที่ผู้พูดต้องการเปล่งออกมาด้วยการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ นั้นคือเสียงอะไร แล้วจึงสร้างเสียงสังเคราะห์ออกมาด้วยระบบ “ช่องเปล่งเสียงเสมือนจริง” (virtual vocal tract) ที่ใช้คอมพิวเตอร์เลียนแบบการทำงานของอวัยวะเปล่งเสียงในมนุษย์

มีการทดสอบใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกับอาสาสมัคร 5 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็น ผู้ป่วยโรคลมชักที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยการ รักษาด้วยการฝังขั้วไฟฟ้าในสมอง โดยให้พวกเขาอ่านออกเสียงข้อความต่าง ๆ หลายร้อยประโยค และตรวจวัดความเคลื่อนไหวของสัญญาณไฟฟ้าในสมองส่วนที่ควบคุมการพูดไปด้วย พบว่าเสียงสังเคราะห์ที่ได้จากการประมวลสัญญาณไฟฟ้าในสมอง มีความถูกต้องตรงกับเสียงที่เปล่งออกมาจริง และเมื่อนำเสียงสังเคราะห์ไปให้อาสาสมัครอีกกลุ่มฟัง พบว่าผู้ฟังมีความเข้าใจข้อความที่ได้ยินทั้งหมดมากกว่า 50%

ทังนี้ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า การแปลงสัญญาณสมองที่ชี้ถึงความเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ให้เป็นเสียงพูด ทำได้ง่ายกว่าการพยายามวิเคราะห์หาคำที่ต้องการจะพูดจากสัญญาณสมองโดยตรง อย่างไรก็ตาม วิธีของเขาไม่ใช่การอ่านใจมนุษย์ เพราะยังทำได้เพียงถอดรหัสความเคลื่อนไหวของอวัยวะเปล่งเสียงที่ผู้พูดต้องการให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่การถอดรหัสความคิดจากคลื่นสมองโดยตรงนั้นยังคงเป็นไปได้ยากอยู่ รวมทั้งอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมอันดีงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตก็ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก

Source : BBCthailand , Nature

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น