ความฉลาด 8 ด้านคืออะไร มีอะไรบ้าง และผุ้ปกครองจะส่งเสริม อย่างไร

ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป

1.ความฉลาดด้านภาษา

ความสามารถด้านการรับรู้ เข้าใจและเลือกใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านภาษา

  • สนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือ และฝึกการเขียนโดยอาจจะเขียนเรื่องสั้น ๆ ให้พ่อแม่อ่าน หรือเขียนไดอารี่ทุกวัน
  • สอดแทรกด้วยการหากิจกรรมฝึกภาษาให้เล่น เช่น เกมต่อคำ ครอสเวิร์ด เป็นต้น
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ

2.ความฉลาดด้านการใช้ตรรกะและการคำนวณ

ความสามารถในการคิดเป็นเหตุเป็นผลและคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ใช้การคาดการณ์และตั้งสมมุติฐานต่าง ๆ ได้ดี

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านการใช้ตรรกะและการคำนวณ

  • ฝึกให้เล่นเกมที่ต้องใช้การคิดคำนวนเช่น เกมตัวเลข หรือไพ่
  • สนับสนุนให้ลูกทำการทดลองเพื่อหาคำตอบของสิ่งต่าง ๆ
  • ฝึกทักษะทางด้านการใช้เหตุผล กาารแก้ปัญหา หัดให้เล่นปัญหาเชาว์

3.ความฉลาดด้านธรรมชาติ

ความสามารถในการเข้าใจปรากฎการณ์และรู้จักธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เช่น ถ้าปลูกต้นไม้ก็จะรู้ว่าต้องปลูกต้องดูแลอย่างไร ต้นไหนชอบน้ำชอบแสงอย่างไร

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านธรรมชาติ

  • ให้ลูกปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์
  • ฝึกให้ลูกรู้จักสังเกต เช่น จดบันทึกสังเกตการเจริญเติบโตของต้นไม้
  • พาลูกเที่ยวศึกษาสิ่งแวดล้อม เช่น เดินป่า ไปสวนสัตว์

4.ความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง

มีความสามารถในการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รับรู้ตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านการเข้าใจตนเอง

  • ปล่อยให้ลูกได้ทำงานคนเดียวบ้าง
  • สนับสนุนหากลูกมีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ
  • เพราะเด็กในกลุ่มนี้มักจะรักสันโดษ พ่อแม่จึงควรให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นบ้าง

5.ความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์

ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น รู้และคาดเดาอารมณ์ ความคิดของผู้อื่น ทำให้ปฏิสัมพันธ์และเข้ากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านมนุษยสัมพันธ์

  • ให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กในวัยเดียวกัน เช่น พาไปเที่ยวสนามเด็กเล่น
  • พาลูกเข้าสังคมบ่อย ๆ
  • ให้ลูกมีส่วนร่วมในการพูดคุย แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ

6.ความฉลาดด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย

สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวและควบคุมการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี ถ้าเห็นท่าทางอะไรก็ทำตามได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย

  • ปล่อยให้ลูกได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ
  • สนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่ได้แสดงออก อย่างเช่น กีฬา การแสดง การเต้น
  • ใช้การสอนสิ่งต่าง ๆ ผ่านการให้ลงมือปฏิบัติจริง

7.ความฉลาดด้านดนตรี

ความสามารถในการจับระดับเสียงดนตรี จับจังหวะและจดจำได้อย่างแม่นยำ จนทำให้สามารถร้องหรือเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านดนตรี

  • สนับสนุนให้ลูกเล่นดนตรี โดยจัดหาเครื่องดนตรีให้ หรือส่งลูกไปเรียนดนตรี
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความสามารถ เช่นเล่นดนตรีโชว์ในงานโรงเรียน หรืองานเลี้ยง
  • พาลูกไปดูการแสดงดนตรีที่ลูกสนใจ

8.ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ และศิลปะ

มีความสามารถในการจับรูปภาพ รูปทรง รับรู้ทิศทางตำแหน่งได้ดี เด็กที่มีความฉลาดทางศิลปะ จะมีความหลงไหลในการวาดภาพ นั่งวาดภาพระบายสีได้เป็นเวลานาน ๆ มีความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ ดี สามารถจดจำสถานที่ที่เคยไปได้

กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเพื่อพัฒนาความฉลาดลูกด้านมิติสัมพันธ์ และศิลปะ

  • ปล่อยให้ลูกได้วาดภาพ หรือทำงานประดิษฐ์อย่างอิสระโดยไม่ตีกรอบให้กับสิ่งที่ลูกทำ
  • พาไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ หรืองานแสดงภาพ
  • ฝึกให้ลูกสเก็ตช์ภาพเหมือน หรือหัดถ่ายรูป

ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้

  1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้
  2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน
  3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน

ทฤษฎีพหุปัญญา ของการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน

คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว

นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ

Source : th.theasianparent , institute4learning.com , นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นfirefliesblog.com

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น