“วิลโลว์” (Willow) เป็นชิปควอนตัมที่ทรงพลังจากกูเกิล ซึ่งเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าล่าสุดในด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมของบริษัท ชิปควอนตัมนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นงานที่คอมพิวเตอร์คลาสสิกไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันจันทร์ ระบุว่า ทีม Google Quantum AI ของกูเกิล พบหนทางผนึกคิวบิตของชิปวิลโลว์ ที่มี 105 คิวบิต (Qubit) ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ควอนตัม เพื่อให้อัตราความผิดพลาดลดลงเมื่อเพิ่มจำนวนคิวบิตเข้าไป อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาความผิดพลาดได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการทำให้คอมพิวเตอร์ควอนตัมนำมาใช้งานได้จริง
ที่ผ่านมา บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ทั้งไมโครซอฟท์ (Microsoft) ไอบีเอ็ม (IBM) และกูเกิล ต่างรุกอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ควอนตัม ที่ให้ความเร็วในการประมวลผลเหนือระบบที่มีในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ชิปควอนตัมที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็วเหนือซูเปอร์คอมพิวเตอร์นี้ ยังติดปัญหาเรื่องความผิดพลาดได้ง่าย เนื่องจากชิปดังกล่าวอาจถูกกระทบจากอนุภาคขนาดเล็ก อย่างเช่น เหตุไม่คาดฝันในอวกาศได้ง่าย และนับตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามแก้ปัญหาเรื่องอัตราความผิดพลาดนี้อยู่ อีกทั้งชิปเหล่านี้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบพิเศษเพื่อให้สามารถใช้งานได้
ทั้งนี้ เมื่อปี 2019 ไอบีเอ็ม ท้าทายคำเคลมของกูเกิลที่ว่าชิปควอนตัมสามารถแก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้เวลานานถึง 10,000 ปี โดยระบุว่า โจทย์ดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ในเวลา 2 วันครึ่งด้วยคอมพิวเตอร์ทั่วไปหากใช้สมมติฐานทางเทคนิคที่แตกต่างกัน
จุดเด่นของ “วิลโลว์”
- ประสิทธิภาพขั้นสูง:
วิลโลว์ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการประมวลผลควอนตัมในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถแก้ปัญหาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายได้เร็วกว่าเดิม - เทคโนโลยีล้ำสมัย:
ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น qubits ที่มีเสถียรภาพและลดความผิดพลาด เพื่อให้การคำนวณมีความแม่นยำมากขึ้น - การใช้งานที่หลากหลาย:
สามารถนำไปใช้ในหลากหลายสาขา เช่น การพัฒนายา, การเพิ่มประสิทธิภาพในโลจิสติกส์, และการเข้ารหัสที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
กูเกิลกับการพัฒนาควอนตัม
กูเกิลเป็นหนึ่งในผู้นำด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยก่อนหน้านี้เคยเปิดตัว Sycamore ซึ่งสร้างความฮือฮาด้วยการอ้างถึง “Quantum Supremacy” หรือความเหนือชั้นของควอนตัมคอมพิวเตอร์ วิลโลว์จึงถือเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นหนึ่งในสายการพัฒนานี้
Source : รอยเตอร์